ชนิดของแผงโซล่าเซลล์มีกี่แบบ? ควรเลือกใช้ประเภทไหนดี?

ในปัจจุบันแผงโซล่าเซลล์มีให้เลือกใช้หลากหลายชนิด โดยแต่ละแบบมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจรายละเอียดของแผงโซล่าเซลล์แต่ละชนิดเพื่อนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยแผงโซล่าเซลล์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ แผงโซล่าเซลล์ชนิด โมโนคริสตัลไลน์, โพลีคริสตัลไลน์ และ ฟิล์มบางอะมอร์ฟัสซิลิกอน โดยมีรายละเอียดดังนี้

แผงโซล่าเซลล์ชนิด โมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)

เป็นชนิดที่มีลักษณะที่สามารถมองสังเกตุได้ง่ายคือแต่ละเซลล์ของโซล่าเซลล์จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมตัดมุมทั้งสี่มุมและมีสีเข้ม ผลิตจากผลึกเดี่ยวของซิลิกอนบริสุทธิ์ ปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่เก่าที่สุดและแพงที่สุด สามารถแปลงพลังงานได้ร้อยละ 15-20 ของแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบแผง แผงโซล่าเซลล์ประเภทนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้หลายวิธีเช่นสร้างสนามที่ผิวด้านหลังหรือใช้เลเซอร์เซาะร่อง จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพถึงร้อยละ 20 แต่ราคาจะมากกว่าแผงปกติประมาณร้อยละ 30

แผงโซล่าเซลล์แบบโมโนคริสตัลไลน์เหมาะสำหรับการใช้ในสถานที่อุณหภูมิไม่สูงมาก ใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อยเนื่องจากมีประสิธิภาพในการผลิตพลังงานต่อแผงที่สูง แต่มีราคาค่อนข้างแพง

ข้อดี

  • มีประสิทธิภาพสูงเนื่องจากผลิตจากซิลิคอนคุณภาพสูง สามารถผลิตพลังงานได้ประมาณร้อยละ 15-20
  • ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง
  • มีอายุการใช้งานนานถึง 25 ปี
  • มีประสิทธิภาพมากกว่าแผงแบบโพลีคริสตัลไลน์ ในจุดเดียวกันที่มีแสงน้อย

ข้อเสีย

  • มีราคาที่แพง การเลือกแผงชนิดอื่นอาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าสำหรับรายเล็ก
  • มีเศษซิลิคอนเหลือจำนวนมากที่ถูกตัดเพื่อทำเป็นสี่เหลี่ยมมุมตัดทำให้กลายเป็นขยะ
  • แผงจะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อใช้งานในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงหรือร้อนจัด

แผงโซล่าเซลล์ชนิด โพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)

แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบโพลีคริสตัลไลน์ทำมาจากซิลิคอนเช่นเดียวกันกับ ชนิดโมโนคริสตัลไลน์ที่มีความบริสุทธิ์แตกต่างกันเล็กน้อย และถูกหล่อเป็นบล็อกแทนที่จะเป็นรูปผลึกเดียว การจัดเรียงเป็นแบบสุ่มจะเห็นเป็นผลึกย่อย ๆ จากนั้นจะถูกเปลี่ยนเป้นบล็อกสี่เหลี่ยม แล้วหั่นเป็นแผ่นเวเฟอร์สี่เหลี่ยมจัตุรัสและถูกเปลี่ยนเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ เซลล์แสงอาทิตย์แบบโพลีคริสตัลไลน์ ด้านประสิทธิภาพและการเสื่อมสภาพต่ำกว่า โมโนคริสตัลไลน์เล็กน้อย

แผงโซล่าเซลล์แบบโพลีคริสตัลไลน์เหมาะกับการใช้งานในประเทศไทยที่มีอุณหภูมิสูง โดยจะสามารถผลิตพลังงานได้ดีและแผงมีราคาถูก แต่จะผลิตพลังงานได้น้อยเมื่ออยู่ในสภาวะแสงน้อยเมื่อเทียบกับแผงโซล่าเซลล์แบบโมโนคริสตัลไลน์

ข้อดี

  • กระบวนการผลิตง่ายกว่าและค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
  • มีประสิทธิภาพในการใช้งานในอุณหภูมิสูงได้ดี
  • ราคาถูกกว่าชนิดโมโนคริสตัลไลน์

ข้อเสีย

  • มีประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 13-16% ซึ่งต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับชนิดโมโนคริสตัลไลน์
  • มีประสิทธิภาพต่อพื้นที่ต่ำกว่าชนิดโมโนคริสตัลไลน์
  • โพลีคริสตัลไลน์มีสีน้ำเงิน ทำให้บางครั้งอาจจะดูไม่สวยงามเมื่อเทียบกับชนิดโมโนคริสตัลไลน์และชนิดฟิล์มบางที่มีสีเข้มกว่า เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี

แผงโซล่าเซลล์ชนิด ฟิล์มบางอะมอร์ฟัสซิลิกอน (Thin Film / Amorphous Silicon Solar Cells)

ผลิตจากการนำเอาฟิล์มที่มีซิลิคอนผสมอยู่ พ่นไปที่พื้นผิวของฟิล์มให้กลายเป็นแผงโซล่าเซลล์ โดยฟิล์มบางที่ใช้ผลิตจาก Amorphous silicon (a-Si), Cadmium telluride (CdTe), Copper indium gallium selenide (CIS/CIGS) และ Organic photovoltaic cells (OPC) จะมีประสิทธิการผลิตพลังงานขึ้นอยู่กับ ชนิดของแผ่นฟิล์มที่นำมาผลิตประสิทธิภาพเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8-10 มีอายุการใช้งานประมาณ 20 ปี ได้รับความนิยมกับโซล่าฟาร์มขนาดใหญ่

แผงโซล่าเซลล์ประเภทฟิล์มบาง มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำจึงทำให้มีราคาถูกที่สุด แต่จะได้อัตราการผลิตพลังงานที่น้อยลงไปด้วย เหมาะสำหรับการทำโซล่าฟาร์มที่มีพื้นที่ในการติดตั้งเยอะ สามารถผลิตพลังงานได้แม้มีแสงน้อย ฝุ่นเกาะ หรือมีร่มเงาบัง ไม่เหมาะกับการใช้ติดบนหลังคาบ้าน

ข้อดี

  • มีราคาถูกเพราะสามารถผลิตจำนวนมากได้
  • กำลังไฟฟ้าไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูง
  • สามารถผลิตพลังงานได้แม้แผงมีฝุ่นเกาะหรือมีร่มเงาบัง
  • ทำงานได้ดีในสภาพแสงน้อย

ข้อเสีย

  • มีประสิทธิภาพน้อยในการผลิตพลังงานที่น้อย
  • ไม่เหมาะกับการนำมาใช้บนหลังคาบ้าน
  • การติดตั้งใช้เวลานานและใช้พื้นที่จำนวนมาก
  • การเลือกใช้อินเวอร์เตอร์มีข้อจำกัด
  • หลังติดตั้ง 1 ปีกำลังการผลิตของแผงจะลดลงร้อยละ 20 ก่อนจะมีสเถียรภาพในการผลิต